วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รถยนต์ที่มาจากฝรั่งเศส (ซีตรอง)


André Gustave Citroën เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1878 ณ กรุงปารีส เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวน 5 คนของ Lévie Citroën นักธุรกิจค้าอัญมณี ชาวฮอลแลนด์ กับ Amalie Kleimmann มารดาชาวโปแลนด์ บิดาเสียชีวิต ในวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.1884 เมื่อเขาอายุเพียง 6 ขวบ โดยมารดาเข้าดูแลธุรกิจ และเลี้ยงดูบุตรสืบมา
ชื่อสกุล Citroën มีที่มาจากปู่ของ André ที่อาศัยอยู่ชาน กรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายผลไม้จำพวกมะนาว เดิมใช้ชื่อสกุลว่า “Lemeonman” ซึ่งมีความหมายตรงตัว ต่อมา แต่งงานกับย่าของ André และเปลี่ยนอาชีพ หันมาดำเนินธุรกิจค้าขายอัญมณี จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสกุลมาใช้คำว่า Citroën เป็นภาษาฮอลแลนด์ หมายถึง มะนาว เพื่อให้ดูสละสลวยและแสดงถึงการยกระดับฐานะทางสังคม ต่อมา André เข้าเรียนที่ Concordet High School ในปีค.ศ.1885 ด้วยหลักไวยากรณ์ทางภาษา จึงเพิ่มตัว “ë” เข้าไปในชื่อสกุล และกลายมาเป็น “Citroën” จนถึงปัจจุบัน

ช่วงรับราชการอยู่ในกองทัพ André เดินทางไปเยี่ยมญาติที่เมือง Lodz ในโปแลนด์ และพบว่าที่นั่นมีการใช้ ชุดฟันเฟืองเกียร์ที่ทำจากไม้ [Wooden Double Helical Gears] ใช้สำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรกลต่างๆ อาทิ เครื่องทอผ้า เครื่องสูบน้ำ ซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีเสียงดังรบกวน สามารถถ่ายเทน้ำหนักได้โดยปราศจากอาการชำรุด แม้ว่าจะทำจากไม้ เขาเห็นความเป็นไปได้ และข้อได้เปรียบหากว่าเฟืองเกียร์ผลิตขึ้นจากเหล็กกล้า จึงได้ศึกษาและเก็บรายละเอียดต่างๆ ไว้ ต่อมาเมื่อเขาลาออกจากกองทัพในปี ค.ศ.1904 เขาได้ซื้อลิขสิทธิ์ “การผลิตชุดฟันเฟืองเกียร์ด้วยเหล็กกล้า” ซึ่งมีผู้ยื่นจดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว เพื่อนำมาออกแบบ และผลิตขึ้นใหม่ โดยมีฟันเฟืองเกียร์เป็น รูปบั้งคู่ [Double Helical Chevron Gear] และกลายมาเป็นโลโก้บริษัทของเขาในเวลาต่อมา ทั้งนี้เขายังได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ระบบเกียร์ของเขาไว้ด้วย
André เริ่มต้นธุรกิจผลิตฟันเฟืองเกียร์ ในชื่อว่า “Engrenages Citroën” ตั้งอยู่ที่ Fauburg St Denis ซึ่งประสบผลสำเร็จ อย่างรวดเร็ว ต่อมาได้ร่วมกับ André Boas และ Jacques Hinstin ตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในปีค.ศ.1905 ใช้ชื่อ “Hinstin Freres Citroën & Cie” และย้ายมาตั้งที่ Essonnes [Orly] ขณะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ในฝรั่งเศส กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้งานชุดฟันเฟืองเกียร์มีปริมาณสูงขึ้นตามไปด้วย เขาจึงพัฒนาระบบการผลิตเฟืองเกียร์ แบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ [Mass Production] ซึ่งทำให้ผลิตสินค้าได้ในปริมาณมาก ขณะที่ราคาสินค้าต่ำลง ทั้งยังมีความรวดเร็วในการผลิตมากยิ่งขึ้น เขาลงทุนในเครื่องจักรอันทันสมัย รวมถึงปรับปรุงระบบควบคุมการจัดการให้คล่องตัวมากขึ้น ระบบเกียร์ของ Citroën ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย กับรถส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสขณะนั้น ทั้งยังเป็นผู้ผลิตระบบเกียร์ให้กับ เรือโดยสารไททานิค และถูกนำไปติดตั้งในรถยนต์ Rolls-Royce อีกด้วย

ช่วงระยะเวลา 5 ปีนับจากที่ได้ก่อตั้ง “Engrenages Citroën” เป็นที่ยอมรับกันว่า André Citroën คือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในอุตสาหกรรมรถยนต์ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1910 บริษัทเขามีเงินสดหมุนเวียนถึง 1 ล้านฟรังซ์ และยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดี กับผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายราย หนึ่งในนั้นคือ “Societe Nouvelle Des Automobiles Mors” หรือ “มัวส์” บริษัทผู้ผลิตรถที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ และจากการแต่งงานระหว่าง พี่ชายของ André กับ ลูกสาวของ Harbleisher ประธานบริษัทมัวส์ สายสัมพันธ์ครั้งนี้ทำให้ Citroën ถูกว่าจ้างให้ผลิตเครื่องยนต์จำนวน 500 เครื่องให้กับโรงงานแห่งใหม่ของบริษัท “Sizaire Nurdin” ณ ท่าเรือ Quai Grenelle
ต่อมา เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในฝรั่งเศส ยอดขายรถยนต์ของมัวส์ ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่า ความต้องการในตลาดยังคงมี แต่กำลังการผลิตตกลงไป อยู่ที่ 10 คันต่อเดือน ด้วยชื่อเสียงของ André ที่เชี่ยวชาญในการผลิต 'แบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่' ทำให้ได้รับคำเชิญจากประธานบริษัทมัวส์ ให้มาดำรงตำแหน่งเป็น 'กรรมการผู้จัดการบริษัท' เขาตอบตกลง และวางมือจากธุรกิจผลิตเกียร์ ทั้งยังได้ชักชวน George Haardt ผู้ช่วยเขาให้เข้ามาร่วมงานด้วย เขาลงมือแก้ไขระบบการผลิต และการจัดการอย่างรวดเร็ว ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ 100 คันต่อเดือน ในปี ค.ศ.1913 ช่วงนั้น ธุรกิจผลิตเฟืองเกียร์ของ André ยังก้าวหน้าไปด้วยดี ถึงแม้เขาจะไม่อยู่ดูแลก็ตาม ต่อมาเขาได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถยนต์ ของ Henry Ford ที่ดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกออกแบบพื้นที่การผลิตภายในโรงงานแตกต่างจากมัวส์ คือ ที่มัวส์จะมีการแบ่งพื้นที่การผลิต ของแต่ละฝ่าย เป็นสัดส่วนตามชั้นต่างๆ ภายในอาคารโรงงาน แต่ที่โรงงานของ Ford ทุกฝ่ายการผลิต จะทำงานอยู่ภายในชั้นเดียวกัน ซึ่งถูกออกแบบ ให้มีขนาดพื้นที่ที่กว้างขวาง และเต็มไปด้วยแสงสว่าง ทำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ จากความคล่องตัวในการผลิต และได้วางแผน ที่จะขยายโรงงานผลิตเกียร์ของเขาเอง จึงได้ก่อตั้ง บริษัท “Société des Engrenages A. Citroën” ขึ้น ที่ท่าเรือ Quai de Grenelle


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ.1914 André ได้เข้าพิธีสมรสกับ Georgina Bingen บุตรสาวนายธนาคารชาวอิตาลี Gustave Bingen ที่ย้ายมาพำนักในฝรั่งเศส ถัดมาไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้น เขากลับเข้าสู่กองทัพอีกครั้งในตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชากองทหารปืนใหญ่ ต่อมาเกิดภาวะขาดแคลนกระสุนปืนใหญ่ เขาเห็นถึงโอกาสที่จะนำเอาระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาใช้ จึงทำแผนงานเสนอผ่านทางเพื่อนเก่า Louise Loucher ผู้ที่สนิทกับรัฐมนตรีกระทรวงยุทธภัณฑ์ Albert Thomas และผ่านเรื่องไปยังผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ นายพล Banquet ซึ่งเห็นชอบ และอนุมัติทันที เขาซื้อที่ดินเปล่าขนาด 30 เอเคอร์แถบท่าเรือ Quai de Javel ที่กรุงปารีส ในปีค.ศ.1915 เพื่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่และสั่งซื้อเครื่องจักรที่จำเป็นจากอเมริกา นอกจากระบบผลิตที่ทันสมัยแล้ว ภายในโรงงาน ยังประกอบด้วยร้านค้า โรงอาหาร สถานพยาบาลและสาธารณูปโภคต่างๆ สำหรับคนงานกว่า 12,000 คน ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยในสวัสดิการของคนงาน รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์หรือขณะพักรักษาตัว เขายังได้ริเริ่มแนวคิดเรื่อง บัตรปันส่วนอาหาร [Food Rationing Card] และนำมาใช้จนประสบผลสำเร็จ ทำให้ André เป็นที่ชื่นชอบของคนงานและได้กำลังผลิตที่มีประสิทธิภาพตามมา ขณะที่สงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้น โรงงานของเขาสามารถผลิตกระสุนปืนใหญ่ ได้ถึง 35,000 นัดต่อวัน ขณะที่โรงงานอื่น ผลิตได้เพียง 20,000 นัดต่อวัน จึงถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเขาทั้งหมด
3 ปีต่อมาสงครามยุติลง พร้อมกับความต้องการกระสุนปืน André ครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไรกับโรงงานกระสุนปืนใหญ่ ซึ่งมีขนาดใหญ่และกำลังผลิตที่มหาศาล ในขณะนั้นการผลิตรถยนต์ในฝรั่งเศสยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้รถยนต์มีราคาแพง เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่จะผลิตรถยนต์แบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้รถยนต์มีราคาถูกลง เป็นรถยนต์สำหรับคนทั่วไป มิใช่สินค้าเฉพาะผู้มีอันจะกินเท่านั้น เขาไม่ ใช่นักออกแบบ และมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ไม่มากนัก จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาดูแลงานในส่วนนี้ โดยเขาจะเป็นผู้กำหนดแนว คิด ดูแลด้านการตลาด และกระบวนการผลิต

ช่วงต้นปี ค.ศ.1917 André ได้พบกับ Artauld และ Dufresne สองวิศวกรซึ่งเคยทำงานให้กับบริษัท Panhard ทั้งคู่ออกแบบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ 3 ลิตร 16 แรงม้า โดยเขาสร้าง รถยนต์ต้นแบบ [Prototype] ขึ้น 3 คัน และถูกทดสอบอย่างหนักเป็นเวลานาน ที่สุดแล้ว เขาไม่เชื่อมั่นในขนาดของรถที่ใหญ่เกินไป จะเป็นผลดีหากรถมีขนาดที่เล็กลง ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง และสามารถทำยอดขายเพิ่มมากขึ้นได้ จึงขายรถยนต์ต้นแบบเหล่านั้นให้แก่เพื่อนของเขา Gabriel Voisin ผู้ซึ่งนำไปพัฒนาต่ออีกทีหนึ่ง
รถที่ André ให้ความสนใจนั้น ถูกผลิตขึ้นก่อนสงครามโดยบริษัท Le Zébre เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก ใช้เครื่องยนต์ขนาด 4 สูบ ออกแบบโดย Jules Salomon นายทหารเทคนิคประจำกองทัพที่เขารู้จักในช่วงสงคราม เขาชวนให้ Salomon ลาออก เพื่อมาออกแบบรถยนต์คันแรกให้กับ Citroën และร่วมมือกับ George Haardt ในการปรับปรุงโรงงาน Salomon ได้ออกแบบรถยนต์ 4 ที่นั่งติดตั้งเครื่องยนต์ 4 สูบ 1,327 ซีซี 18 แรงม้า ผลิตเป็นรถต้นแบบ 30 คันให้ชื่อว่า A Type ตัวรถเบาเพียง 990 ปอนด์ ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง วิ่งได้ 35 ไมล์ โดยใช้น้ำมันเพียง 1 แกลลอน มีความเร็วสูงสุด 65 ไมล์ต่อชั่วโมง
4 เดือนหลังจากสงครามยุติ โรงงานที่ Quai de Javel ถูกเปลี่ยนมาใช้ในการผลิตรถยนต์ และใช้ชื่อใหม่ว่า “S.A. André Citroën” รถยนต์ A Type เข้าสู่สายการผลิต เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1919 มีการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ แจ้งข่าว การเปิดตัวรถยนต์คันใหม่ “Citroën A Type” ระบุว่าเป็นรถยุโรปคันแรกที่ใช้การผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตั้งราคาไว้ที่ 7,950 ฟรังซ์ซึ่งถูกกว่าคู่แข่งทุกราย มียอดจองเข้ามาถึง 30,000 คัน ก่อนที่รถยนต์คันแรกจะถูกส่งมอบให้แก่นาย Testemolle de Beaulieu ที่เมือง Dordogne วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1919 ช่วงแรก ผลิตได้เพียง 30 คันต่อวัน ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 12,500 ฟรังซ์ และสามารถผลิตเพิ่มเป็น 100 คันต่อวัน ในช่วงต้นปี ค.ศ.1920 จนกระทั่ง ทำยอดผลิตรวม ถึง 20,000 คัน ในปี ค.ศ.1921 ซึ่งมากกว่ายอดผลิตของ Peugeot และ Renault รวมกัน หลังจากนั้นไม่นานเขาจึงเริ่มโครงการพัฒนารถยนต์รุ่นต่อไป Citroën B Type


André ได้จัดตั้ง 'ตัวแทนจำหน่าย' กว่า 1,000 รายทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งยังได้จัดพิมพ์ 'คู่มือดูแลรถ' และ 'แค็ตตาล็อกอะไหล่' มอบให้แก่ผู้ที่ซื้อรถยนต์ Citroën นอกจากนี้เขายังทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และได้จัดตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นในชื่อว่า “André Citroën Editions” เขาได้เริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นตามมา อาทิ จัดตั้งบริษัทเงินทุนที่เน้นให้บริการสินเชื่อรถยนต์ขึ้นเป็นแห่งแรก จัดตั้งบริษัทด้าน ประกันภัยรถยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มผลิต 'แบบจำลองรถขนาดย่อส่วน' เพื่อใช้ในการทำประชาสัมพันธ์ ต่อมาถูกพัฒนาขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมของเล่นเด็กซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 ล้านฟรังซ์
รถยนต์ Citroën รุ่นถัดมา 'B2 Type' เปิดตัวในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1921 ถูกพัฒนาขึ้นจากรุ่นเดิมเล็กน้อย ติดตั้งเครื่องยนต์ 1,452 ซีซี 20 แรงม้า โดย A Type ถูกลดกำลังผลิตลงและแทนที่ด้วย B2 Type โดยมีกำลังผลิตมากกว่า 300 คันต่อวัน จนหยุดการผลิตลงในปี ค.ศ.1927 ด้วยยอดผลิตรวมทั้งสิ้น 72,356 คัน
ในช่วงแรกนั้นรถยนต์รุ่น B Type ถูกผลิตขึ้นโดยใช้โครงสร้างไม้ประกอบเข้ากับชิ้นส่วนตัวถังที่ทำจากเหล็ก ต่อมา André ได้นำกระบวนการ ผลิตแบบ “โครงสร้างเหล็กทั้งคัน” มาใช้ในปี ค.ศ.1924 ขึ้นเป็นครั้งแรกในยุโรป ซึ่งเทคนิคการผลิตนี้ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา การผลิตเริ่มจากนำแผ่นเหล็กมาปั๊มขึ้นรูป เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของรถ แล้วเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ก่อนนำไปประกอบเข้ากับ โครงรถ [Chassis] ที่ทำจากเหล็กกล้า เทคนิคนี้นอกจากจะสร้างชื่อเสียง และผลสำเร็จทางการตลาดแล้ว ยังทำให้รถมีความแข็งแรงและเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น B10 Type เป็นรถยนต์รุ่นแรก ที่ใช้โครงสร้างเหล็กทั้งคัน ถูกผลิตขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.1925 โดยใช้เวลาผลิตมากขึ้นกว่ารุ่นเดิมถึง 2 เท่าครึ่ง และพบปัญหาการบิดตัวของโครงสร้างเหล็ก ด้วยการแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า นำไปสู่ความสำเร็จในรถรุ่นต่อไป B12 Type ซึ่งมีขนาดกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม ปี ค.ศ.1926 B14 Type ปรากฎตัวในงาน “Salon del Automobile” ที่กรุงปารีส ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1,538 ซีซี 22 แรงม้า โดยมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นถึง 400 คันต่อวัน



B14 Type เป็นรถยนต์ Citroën รุ่นสุดท้ายที่ออกแบบโดย Jules Saloman ก่อนที่จะลาออกไป เพื่อทำงานให้กับ Peugeot ระยะหนึ่งแล้วจึงไปร่วมงานกับ Lucien Rosengart ในเวลาต่อมา ขณะนั้นโรงงานของ André มีพนักงานทั้งสิ้น 35,000 คนและตั้งสาขาในประเทศอื่นๆ อีก 11 แห่ง รถยนต์รุ่นถัดมาเปิดตัวในปี ค.ศ.1922 Citroën เลือกที่จะผลิตรถยนต์ 2 ที่นั่งที่มีขนาดเล็กลง ติดตั้งเครื่องยนต์ 856 ซีซี ออกแบบโดย Edmond Moyet ใช้ชื่อรุ่นว่า C Type หรือ 5CV ย่อจาก “5 Chevaux Vapeur” หมายถึง 5 แรงม้าในมาตราฝรั่งเศสซึ่งเท่ากับ 11 แรงม้าปกติ นำออกแสดงครั้งแรกที่ งานปารีส มอเตอร์โชว์ 1921
'Le Petit Citroen' หรือ 'มะนาวผลเล็ก' คือฉายาของ C Type รุ่นแรก ในแบบ Tourer Torpedo 2 ที่นั่ง ตัวรถมีสีเหลืองมะนาวที่โดดเด่น ต่อมาถูกพัฒนาขึ้นเล็กน้อยในรุ่น C2 Type จนกระทั่งตุลาคม ปี ค.ศ.1924 การมาของ C3 Type ที่มีชื่อเสียงซึ่งมาพร้อมกับที่นั่งตำแหน่งที่ 3 ทางด้านหลัง เมื่อมองตำแหน่งการวางที่นั่งจากด้านบน จะเห็นเป็นรูปดอกจิก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ 'Le Trefle' หรือ 'Cloverleaf' แม้ว่ารถยนต์รุ่นนี้จะประสบผลสำเร็จอย่างสูง จนได้รับการยกย่องจากนักสะสมรถทั่วโลก ตราบจนถึงปัจจุบัน ในชื้อที่รู้จักกันดีอีกชื่อว่า 'Cul de Poule' หรือ 'เจ้าตูดไก่' เนื่องจากส่วนท้ายรถที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ได้หยุดผลิตลงในปี ค.ศ.1926 โดยถูกแทนที่สายการผลิตด้วยรุ่น B Type ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และให้ผลกำไรที่ดีกว่า
ในช่วงนั้นเองที่มีการพัฒนา ระบบ Half-Track โดย Adolphe Kégresse ซึ่งสามารถนำมาติดตั้งได้ในรถยนต์ธรรมดา เพื่อการใช้งานที่สมบุกสมบัน หรือใช้ภายในกองทัพ Kégresse ร่วมกับ Citroën และ Hinstin นำระบบนี้มาติดตั้งในรถยนต์ Citroën A Type และ B Type ต่อมาได้ตั้ง คณะเดินทางสำรวจข้ามทวีป ขึ้น เพื่อทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยการเดินทางครั้งสำคัญและที่มีชื่อเสียง ได้แก่ การเดินทางข้ามทะเลทรายซาฮาร่าสู่เมือง Timbuktu ทวีปแอฟริกา ในปี ค.ศ.1922 การเดินทางข้าม ทวีปแอฟริกา จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ในปี ค.ศ.1924 และการเดินทางจาก กรุงเบรุต เลบานอน ตามรอยเท้า 'มาร์โคโปโล' ผ่าน 'เส้นทางสายไหม' สู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี ค.ศ.1931

'งานปารีสมอเตอร์โชว์ 1926' ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม นอกจากเป็นงานที่ André ใช้เปิดตัวรถยนต์ Citroën รุ่นใหม่ 2 รุ่นแล้วยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รถยนต์ Citroën ได้ถูกผลิตออกมาโลดแล่นบนท้องถนนถึงกว่า 3 แสนคัน มีการทุ่มงบโฆษณา ด้วยการประดับไฟนับพันดวงบน 'หอไอเฟล' เป็นตัวอักษรคำว่า 'CITROËN' ในช่วงระหว่างงาน 'International Exhibition of Decorative Art' และ ยังเป็นสิ่งเดียวที่ Charles Linbergh เห็นในความมืดมิด และรับรู้ได้ว่ากำลังบินอยู่เหนือน่านฟ้า กรุงปารีส ในตอนเย็นวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1925 ขณะที่เขากำลังทำการบินครั้งประวัติศาสตร์ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
C4 Type และ C6 Type รถยนต์รุ่นใหม่ ที่ตั้งชื่อรุ่นตามขนาดเครื่องยนต์ C4 Type ใช้เครื่องยนต์ขนาด 4 สูบ 1,628 ซีซี ขณะที่ C6 Type ใช้เครื่องยนต์ขนาด 6 สูบ 2,442 ซีซี และเป็นรถยนต์แบบ 6 สูบรุ่นแรกที่ Citroën ผลิตขึ้น โดยมีขนาดที่กว้างขวาง และมีรูปลักษณ์ทันสมัย เช่นเดียวกับรถอเมริกันขนาดกลาง เนื่องจากทั้งสองรุ่นนี้มีรูปทรงที่คล้ายคลึงกัน C6 Type จึงถูกพัฒนาให้มีความหรูหรามากขึ้นกว่าเดิม ในรุ่น C6E Type เพื่อให้มีความแตกต่างจาก C4 Type อย่างชัดเจนมากขึ้น
ในปี ค.ศ.1932 André ซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยี 'Floating Engine' หรือ 'Floating Power' จาก Chrysler บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน แต่คิดค้นขึ้นโดยสองวิศวกรชาวฝรั่งเศส Lemaire และ Daubarès ผู้เชี่ยวชาญด้านความสั่นสะเทือน เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการสั่นสะเทือนของตัวรถ ที่เกิดจากการสั่นของเครื่องยนต์ซึ่งถูกวางไว้บนโครงรถ โดยการเสริม 'แท่นยาง' ที่ออกแบบขึ้นพิเศษ เพื่อดูดซับแรงสะเทือนไว้ใต้เครื่องยนต์ ช่วยให้การขับขี่มีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น André นำเทคโนโลยีนี้ มาใช้กับ C4 Type และ C6 Type ในช่วงสุดท้ายของการผลิต โดยติดสัญลักษณ์ไว้เป็นรูป 'หงส์ลอยเหนือน้ำ' ต่อมา Lemaire ได้เข้ามาร่วมงาน และพัฒนาระบบกันสะเทือนที่มีชื่อเสียงให้กับ Citroën ช่วงเวลา 6 ปีที่ C4 Type และ C6 Type อยู่ในสายการผลิต นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างสูงยิ่ง โดยปี ค.ศ.1934 C4 Type มียอดการผลิตทั้งสิ้น 243,068 คัน และ C6 Type ถูกผลิตออกมาทั้งสิ้น จำนวน 61,273 คัน


ช่วงต้นทศวรรษที่ 30 การลงทุนอย่างมหาศาลในกระบวนการผลิตขนาดใหญ่ และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ทำให้ André ชะลอการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ออกไป จนกระทั่งใน งานปารีส มอเตอร์โชว์ 1932 รถยนต์ Citroën รุ่น 8CV Type, 10CV Type และ 15CV Type ถูกเปิดตัวด้วยรูปลักษณ์ที่สุดหรูหรา ความรู้ด้านโครงสร้างเหล็กถูกพัฒนาเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างแบบ 'Single Unit' โดยตัวถังรถซึ่งมีความซับซ้อน ถูกผลิตขึ้นจากการนำชิ้นส่วนย่อยๆ 2 ชิ้น มาประกอบเข้าเป็นหนึ่งหน่วยแล้วเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นตัวถังรถยนต์ทั้งคันโดยอัตโนมัติ ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย ทำให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นก่อนหน้านี้
8CV Type มีขนาดเล็กที่สุดในจำนวน 3 รุ่นนี้ ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 1,452 ซีซี เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ติดตั้ง ระบบเกียร์ 2 จังหวะ และ ได้รับฉายาว่า 'Rosalies' จากการทำลายสถิติการแข่งขัน 'Motlhéry' ซึ่งจัดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้ง โดยที่มีชื่อเสียงที่สุด คือรายการ 'Petit Rosalie' ใช้เวลาแข่ง 134 วัน ระยะทางทั้งสิ้น 2 แสนไมล์ ความเร็วเฉลี่ย 57.8 ไมล์ต่อชั่วโมง ช่วงแรกนั้นที่ด้านหน้ารถของ Rosalies ไม่ได้ติด 'เครื่องหมายบั้งคู่' หรือ 'Chevron' อันเป็นสัญลักษณ์ของ Citroën จนกระทั่งปี ค.ศ.1932
แม้ Rosalies จะมีรูปทรงที่หรูหราและสง่างาม แต่ก็ประสบปัญหาเรื่อง หลักพลศาสตร์ [Aerodynamic] คือ มีการต้านแรงลมมากเกินไป เนื่องจากการลงทุนมหาศาลที่ผ่านมา ทำให้ André ไม่มีเงินพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่นๆ จึงใช้วิธีดัดแปลงส่วนต่างๆ ของรถ เพื่อแก้ไขปัญหา เชื่อกันว่านี่คือผลงานชิ้นแรกของ 'Flaminio Bertoni' นักออกแบบอัจฉริยะ ผู้เข้ามาร่วมงานกับ Citroën ในเดือนกรกฎาคมปีค.ศ. 1932 Bertoni แก้ไขส่วนหน้าของรถให้มีความลาดเอียงมากขึ้น และออกแบบกันชนด้านหน้าให้โค้งมน Rosalies ที่ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่ใช้ชื่อว่า 'NH' ซึ่งย่อมาจาก 'Nouvel Habillage' และยังติดตั้งเทคโนโลยี 'Freewheel System' ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Chenard et Walcker ภายใต้ลิขสิทธ์ของบริษัท Studebaker ทั้งนี้ Rosalies อยู่ในสายการผลิตจนถึงปี ค.ศ.1941 ด้วยยอดผลิตกว่าแสนคัน และเป็นรุ่นสุดท้ายของ Citroën ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า



ปัญหาด้านการเงินของบริษัทเริ่มส่อเค้าขึ้นในปี ค.ศ.1931 เมื่อ André ใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลไปในการขยายธุรกิจ และซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ จากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาใช้ในกระบวนการผลิต ในปีนี้เองที่เขาเปิดโชว์รูมแห่งใหม่ซึ่งมีพื้นที่ถึง 15,000 ตร.ม.โดยเช่าอาคารคลังสินค้าที่สถานีรถไฟ St Lazareในเดือนเมษายน เขาปรับปรุงโรงงานครั้งใหญ่ที่ Quai de Javel โดยขยายพื้นที่ออกไปถึง 120,000 ตร.ม. ใช้โครงสร้างเหล็กกล้า มากกว่า 12,500 ตัน และ จัดงานเลี้ยงรับรองแขกกว่า 6 พันคน ทั้งนี้ เงินที่ใช้จ่ายมาจากการกู้ยืมทั้งสิ้น โดยมีบริษัท 'Michelin' เป็นผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่
ในที่สุด André ก็ได้รับบทเรียน ซึ่งสายเกินกว่าจะแก้ไข รถยนต์รุ่นถัดมา 'Traction Avant' ซึ่งหมายถึง 'รถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า' คือ ความล้มเหลวครั้งแรกและครั้งเดียว แต่กลับนำความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คืนมาสู่บริษัทได้ในภายหลัง Traction Avant อยู่ในสายการผลิตนานถึง 23 ปี ยอดผลิตทั้งสิ้นกว่า 7 แสนคัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับ หอไอเฟล และ มูแร็งรูจ ถูกเลือกใช้เป็นรถประจำกรมตำรวจ Migret และกองตำรวจลับ Gestapo ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไม่รวมถึงบุคคลสำคัญทั่วโลกกว่าแสนคน ที่เลือกใช้รถรุ่นนี้เป็นพาหนะประจำตัว ทว่า การมาของรถรุ่นนี้ได้กลืนกินบริษัท และทรัพย์สินทั้งหมดของ André และนำเขาไปสู่ความตาย
Traction Avant มีที่มาจากแรงบันดาลใจ 2 สิ่ง สิ่งแรกคือ รถยนต์ต้นแบบของ Joseph Ledwinka แห่งบริษัท Budd ที่ฟิลาเดลเฟีย ผลิตขึ้นในปี ค.ศ.1931 ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และมีโครงสร้างแบบ Intergral Chassi อีกสิ่งคือ รถยนต์ต้นแบบซึ่งผลิตขึ้นโดย Gabriel Voisin และ André Lefèbvre ในเมือง Issy-les-Moulineaux ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าและติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 3.2 ลิตรไว้ ถึงแม้ว่ามหาสมุทรจะแยกการค้นคว้าทั้งสองที่ออกจากกัน แต่ André ก็เป็นผู้เชื่อมโยงทั้งสองเข้าไว้ด้วยกัน โดยปี ค.ศ.1923 ที่เขาซื้อลิขสิทธิ์โครงสร้างเหล็กจากบริษัท Budd เพื่อนำมาใช้ในการผลิต ช่วงแรกตัวถังรถจะถูกผลิตขึ้นที่ฟิลาเดลเฟีย หลังจากที่ปรับปรุงระบบการผลิตที่โรงงานเสร็จสิ้น และมีการส่งมอบเครื่องจักร รวมถึงแม่พิมพ์ชิ้นส่วนแล้ว Citroën จึงเริ่มผลิตตัวถังเอง นับแต่นั้นเมื่อ André เดินทางไปสหรัฐครั้งใดก็จะแวะไปเยือนบริษัท Budd เสมอ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะเคยได้เห็นรถยนต์ต้นแบบของ Ledwinka ทีนั่นเอง



ในปี ค.ศ.1931 André ได้พบกับ André Lefèbvre และทราบถึงโครงการรถยนต์ต้นแบบที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าที่ Lefèbvre พัฒนาร่วมกันกับ Voisin ช่วงนั้นเองที่เขาคิดว่าถึงเวลาที่จะพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่แล้ว จึงได้ว่าจ้าง Lefèbvre ให้เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต่อมาแผนการผลิตถูกระงับลง ทำให้ Lefèbvre จากไปร่วมงานกับบริษัท Renault ที่ซึ่งเขาพบกระแสคัดค้าน จึงได้กลับมาที่ Citroën อีกครั้งพร้อมผู้ช่วยของเขา Maurice Sainturat และแผนงานรถต้นแบบ Traction Avant ซึ่งถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด
André ใช้เงินจำนวนมากไปกับการค้นคว้าพัฒนาและซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับ Traction Avant รถยนต์ที่มีความซับซ้อน ใช้โครงสร้างแบบใหม่ที่สมบูรณ์แบบ โดยใช้กรรมวิธีปั๊มขึ้นรูปโลหะและเชื่อมต่อเข้าด้วยกันซึ่งทันสมัยที่สุด ณ เวลานั้น ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1,529 ซีซี และระบบกันสะเทือนหลังแบบแกนบิด นี่ยังไม่รวมถึงความซับซ้อนในส่วนอื่นๆ ของระบบขับเคลื่อนล้อหน้า สำหรับ André แล้ว เพียงแค่นี้ยังไม่พอ เขายังหลงใหลในความนุ่มนวลและประสิทธิภาพของระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ 'Sensaud de Laud' ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นในช่วงนั้น จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์ เพื่อนำมาใช้กับ Traction Avant แม้ว่าการทดสอบจะช่วยให้รถแล่นได้อย่างราบรื่น แต่ยังมีปัญหาการขับขี่ในสภาพฉุกเฉิน ขณะเดียวกันโรงงานของเขาเริ่มมีปัญหาเรื่องกำลังผลิต ช่วงต้นเดือนมีนาคม ปีค.ศ.1934 เมื่อครบกำหนดชำระสัญญาเงินกู้ระยะสั้น เขายังขาดเงินจำนวน 150 ล้านฟรังซ์ ที่ต้องชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ เขาพยายามหาเงินทุนเพิ่มเติม และได้ทำการสาธิตประสิทธิภาพ รถยนต์รุ่นใหม่ New 7CV 'Traction Avant' ให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ แต่ก็พบกับความล้มเหลวเพราะระบบเกียร์อัตโนมัติทำงานผิดพลาด ในที่สุดแล้ว บริษัทของเขาก็ถูกศาลพิพากษาให้อยู่ในฐานะล้มละลาย 'Michelin' ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ เข้ามาบริหารกิจการแทน André ที่เดินจากไป ไม่นานนักเขาเริ่มล้มป่วยลง เนื่องจากขาดกำลังใจที่จะต่อสู้ อาการเขาเริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว และถึงแก่ความตายลง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1935 เหลือทิ้งไว้แต่เพียงรถยนต์ที่ใช้สัญลักษณ์ 'บั้งคู่' ซึ่งนำการปฏิวัติเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสู่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั่วโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มีนาคม 2565 เวลา 12:48

    The best casino, bonuses, bonus codes
    Slots and video poker. We have 커뮤니티 베스트 the most comprehensive 사설토토 가입 샤오미 and trusted gambling and entertainment destination in 사설 토토 넷마블 the world. Our website has 이 스포츠 the latest and greatest in 턱시도 사이트

    ตอบลบ